เปิดให้ทดลองใช้งานเว็บไซต์หลัก (เวอร์ชั่นใหม่)Go

   วันศุกร์ที่   29   มีนาคม   พ.ศ. 2567

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
(ภาคปกติและภาคพิเศษ)

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท น้อมเนียน
ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
LANGUAGE AND INTERCULTURAL COMMUNICATION
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

"จากการที่สังคมโลก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และรวมถึงกลุ่มประเทศอาเชียนได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2015 ประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่า 10 ประเทศอาเซียนจะต้องร่วมมือกัน ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะมีมากขึ้น บุคลากรที่สำคัญในการที่เราจะพัฒนาทักษะความสามารถ องค์ความรู้ด้านการสื่อสาร มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเรามีความรู้ทางด้านภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางในการสื่อสารของประชาคมอาเซียนแล้ว วัฒนธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญอีกมิติหนึ่งในการสื่อสาร ส่วนใหญ่เราจะให้ความสำคัญกับ ตัวภาษา เนื้อหา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรานำมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร เพราะความเป็นวัฒนธรรมในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้เราจะจัดการความแตกต่าง มุมมองความคิด ที่อาจจะไม่ลงรอยกัน ได้อย่างไร

นักศึกษาที่เข้ามา จะได้เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล ในแต่ละ Major ซึ่งสิ่งๆ นี้จะก่อให้เกิดมุมมองความคิด ในการทำงานร่วมกัน ความสามัคคีกัน ความเข้าอกเข้าใจกัน ผมคิดว่าสังคมมหาวิทยาลัยจะเอื้อต่อนักศึกษา ซึ่งเมื่อเด็กเหล่านี้จบไปแล้วสามารถที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ทักษะที่เราจะให้นักศึกษานั้น เพื่อให้เขาจบไปแล้ว เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต skill สำหรับศตวรรษที่ 21 นี่เป็นสิ่งจำเป็นมาก และในหลักสูตรใหม่ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งเปิดได้เมื่อปี 2560 เดิมมีชื่อว่าศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา การปรับหลักสูตรจะมีการอัพเดทหลักสูตรตลอดเวลา ทีมอาจารย์จะหาสิ่งใหม่ๆ มาบรรจุไว้ในหลักสูตร อีกทั้งยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากแขนงต่างๆ มาให้ความรู้ ทักษะ และมุมมองชีวิต ว่าทิศทางของประเทศชาติ ทิศทางของโลกที่จะเดินไป ลูกศิษย์เราคววรจะไปทิศทางไหน

ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า ดังนั้นหากเราไม่ไว ไม่ทันต่อสถานการณ์โลก ไม่เข้าใจว่า Digital Media literacy คืออะไร ลูกศิษย์เราก็จะตามสังคมไม่ทัน"

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

วิชาเอก
  • การสอนภาษา
  • การแปล
  • การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการบริหาร

ความเป็นมา

สังคมไทยมีความตื่นตัวเรียนรู้ในเรื่องความหลากหลาย มีพัฒนาการในการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ๆ มีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ มีการพึ่งพาอาศัย มีการต่อรอง และมีความขัดแย้งแบบใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมด้วยการให้ความรู้ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงการทำงานและการอยู่ร่วมกันในองค์กรและสังคมที่รวมผู้คนที่มีภูมิหลังทางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ทางหลักสูตรจึงพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมขึ้นที่มุ่งเน้น ให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้จริง โดยปรัชญาของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม คือ "การสร้างมหาบัณฑิตที่มีความตระหนักรู้ในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถประยุกต์ความรู้และทักษะด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ในการสอนภาษา การแปล และการบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของตนเองและพัฒนาสังคม" ซึ่งจะทำให้มหาบัณฑิตเป็นที่พึ่งของสังคม และเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดลได้อย่างสมบูรณ์

จุดเด่น / ความแตกต่าง

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเป็นหลักสูตรที่เตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในองค์กรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการ
  • เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  • สร้างทักษะในการสื่อสารกับผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม
  • เพิ่มกลยุทธ์การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมด้านการสอนภาษา การแปล และการบริหาร โดยใช้ความรู้ด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเป็นแกนกลาง และเน้นเรียนรู้การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในสถานการณ์จริง ทั้งจากคณาจารย์ในหลักสูตรและวิทยากรจากหน่วยงานที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ การศึกษาดูงาน และการทำงานร่วมกับอาจารย์ในโครงการต่างๆ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

ความร่วมมือกับสถาบันภายนอก

หลักสูตรฯ มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีความรู้และสมรรถนะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ที่สามารถทำงานได้ภายใต้บริบทของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการพัฒนางานได้ จึงสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมให้กับผู้เรียน โดยได้ทำความร่วมมือกับองค์กรหลากหลายหน่วยงาน เช่น คณาจารย์สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสภาวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียนให้กว้างออกไปกว่าเดิม

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

รูปแบบการเรียนการสอน

รูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตรฯ อยู่ภายใต้กรอบคิดของ Outcome based education มุ่งเน้นการบูรณาการศาสตร์และความรู้ด้านต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านผู้เชี่ยวชาญของหลักสูตรฯ รวมถึงเน้นการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนพื้นฐานแนวคิดทฤษฎีที่จำเป็น และการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทเหตุการณ์จริง สนับสนุนการเรียนแบบทางเลือก เช่น การลงพื้นที่ การฝึกปฏิบัติจริงเพื่อเพิ่มพูนทักษะโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสอนภาษา การแปล และการบริหารองค์กรในลักษณะต่างๆ ได้อย่างมืออาชีพ หลักสูตรมีสาขาวิชาเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่

  • สาขาวิชาการสอนภาษา
  • สาขาวิชาการแปล
  • สาขาวิชาการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการบริหาร

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับเมื่อได้เข้ามาศึกษา และสำเร็จการศึกษาออกไป / อาชีพที่ประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

คณาจารย์ของหลักสูตรฯ จะเตรียมความพร้อมในเรื่องวิชาการที่เข้มข้นเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมประชาคมอาเซียน และมีการจัดการสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และการสนับสนุนช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้ด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมทุกมิติ เพื่อสำเร็จไปประกอบอาชีพที่ใฝ่ฝันได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น

  • นักแปล
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษา
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
  • นักวิเคราะห์และวางกลยุทธ์การสื่อสาร
  • นักบริหาร นักพัฒนา
  • นักประชาสัมพันธ์ นักสื่อสารองค์การ
  • นักวิจัย นักวิชาการ ที่ปรึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)


ความภาคภูมิใจ

หลักสูตรสามารถสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะในด้านภาษา วัฒนธรรม และการวิจัยอย่างมีคุณธรรม เพื่อสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปบูรณาการและประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาอาชีพในด้านต่างๆ ได้ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของหลักสูตรฯ ที่จะสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับผู้เรียน

วิชาเอกการสอนภาษา

  • การจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย
  • การวิเคราะห์ความต้องการของผู้สอนและผู้เรียนเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน
  • การวิจัยด้านการพัฒนาสามัตถิยะภาษาต่างประเทศของผู้สอนและผู้เรียนเพื่อการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
  • การศึกษาด้านการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสอดรับกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในประชาคมอาเซียน

วิชาเอกการแปล

  • การศึกษากลวิธีการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย หรือจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
  • การศึกษาการแปลเชิงเปรียบเทียบ จากคู่เทียบฉบับแปล ๒ ฉบับ หรือมากกว่า
  • การศึกษาการแปลในฐานะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
  • การศึกษากลวิธีการแปลโดยใช้หลักวัจนปฏิบัติศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม  (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

วิชาเอกการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการบริหาร

  • การวิจัยบทบาทและความสำคัญของภาษาในการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การศึกษาการใช้ภาษาในสถานการณ์การสื่อสารต่างวัฒนธรรม การวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้ภาษา ทั้ง วัจนภาษาและอวัจนภาษา
  • การศึกษาการใช้ภาษา การสื่อสารของผู้นำ วัฒนธรรมการทำงานของบุคลากรกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การในองค์การประเภทต่างๆ ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  • การศึกษาปัจจัยและกลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ หรืออาชีพต่างๆ
  • การศึกษาสื่อในแง่มุมทางวัฒนธรรม การวิเคราะห์บทบาทของสื่อเก่าและสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อวิถีชีวิตและการประกอบสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและอัตลักษณ์ของกลุ่มคนต่างๆ และการบริหารองค์การ

ทุนการศึกษา

ทุนเฉลิมพระเกียรติครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าศึกษา

ปีการศึกษา 2561 หลักสูตรฯ ยินดีต้อนรับนักศึกษาจากหลากหลายสาขา โดยเปิดรับสมัครนักศึกษาภาคพิเศษ เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ใช้เวลาเรียน 2 ปี สำเร็จการศึกษาได้ภายในปีการศึกษา 2563 ซึ่งอาจารย์และหลักสูตรมีความเชื่อมั่นว่า นักศึกษาที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับเราจะสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่มีความหลากหลายทั้งภาษา และวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3213, 3447 หรือ www.lc.mahidol.ac.th

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

http://www.lc.mahidol.ac.th/th/Program/MACommunication.htm
http://www.grad.mahidol.ac.th/th/prospective-students/view.php?id=7302M02G
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ , งานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2441-9129 ,0-2441-4125 ต่อ 208-210, 112-113