หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่
ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย
Master of Science Program in Toxicology and Nutrition for Food Safety
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
"หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัยเป็นหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 ซึ่งหลักสูตรเดิมคือพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ ทั้งนี้ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร "เพื่อมุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีความชำนาญด้านพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัยโดยบูรณาการความรู้ในสหวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับพิษภัยทางอาหารได้ด้วยตนเอง"
สามารถประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยอาหารและถ่ายทอดความรู้ตามจรรยาบรรณของหลักวิชา นำองค์ความรู้ทางด้านพิษวิทยามาประยุกต์ในการจัดการคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค" หลักสูตรปรับปรุงใหม่นี้ได้ถูกออกแบบตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตเพื่อให้ตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2559-2562 ด้าน Excellence in outcome-based education for globally-competent graduates เพื่อผลิตบัณฑิตตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์อันประกอบด้วย "รู้แจ้งรู้จริงทั้งด้านกว้างและด้านลึก มีทักษะและประสบการณ์สามารถแข่งขันได้ระดับโลก มีจิตสาธารณะสามารถทำประโยชน์ให้สังคม กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในสิ่งที่ถูกต้อง" นอกจากนี้ด้วยนโยบาย "Thailand 4.0"ของภาครัฐที่กำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ดังนั้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆโดยเฉพาะด้านอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงถือเป็นบทบาทของนักพิษวิทยาด้านอาหารและโภชนาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพมาตรฐานบนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อสุขภาพ การเข้ามาเป็นนักศึกษาของหลักสูตรจึงนับเป็นการพัฒนาศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมไทยในปัจจุบัน
วีดีทัศน์แนะนำหลักสูตร
ความเป็นมา / ความสำคัญของการจัดทำหลักสูตร
- หลักสูตรนี้ปรับปรุงมาจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาทางอาหารโภชนาการ ซึ่งจัดการเรียนการสอนมาแล้วกว่า 20 ปี มีบัณฑิตจบการศึกษาไปแล้วเกือบ 20 รุ่น โดยได้ปรับปรุงเนื้อหาให้เน้นการประยุกต์องค์ความรู้สู่การนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ และมุ่งเน้นเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งทางพิษวิทยาและทางโภชนาการเพื่อนำไปใช้ ประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของอาหาร ทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดอันตรายในอาหารและลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ตลอดจนทักษะการออกแบบการทดสอบทางพิษวิทยาที่ใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ
IMPACT ต่อสังคมและประเทศชาติ
นโยบาย Thailand 4.0 ก่อให้เกิดการเติบโตด้านอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก มีการสร้างนวัตกรรมทางอาหารซึ่งต้องได้รับการประเมินความปลอดภัยก่อนขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง อาหารใหม่ ซึ่งคืออาหารที่มีประวัติการใช้ไม่เกิน 15 ปี โดยตามประกาศระบุว่า อาหารใหม่ต้องได้รับการประเมินความปลอดภัย โดยมีข้อมูลทางพิษวิทยามาสนับสนุน ดังนั้นในกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการร่วมทีม นอกจากนี้ในหน่วยงานภาครัฐก็มีความต้องการบุคลากรในสาขานี้เพื่อมีบทบาทในด้านการกำหนดนโยบาย กำหนดมาตรฐานอาหาร และประเมินความปลอดภัยตามมาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเกิดขึ้นมากมาย ตลาดแรงงานของวิชาชีพนี้จึงเติบโตอย่างมากและมีบทบาทอย่างยิ่งในการคุ้มครองผู้บริโภค
IMPACT ต่อสังคมโลก
องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์นโยบายด้านอาหารปลอดภัย ด้วยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า อาหารและโภชนาการมีบทบาทอย่างมากต่อการก่อโรคหรือลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคระบบประสาท เป็นต้น ดังนั้นองค์ความรู้ด้านพิษวิทยาและโภชนาการนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการบ่งชี้โทษ และสร้างคุณประโยชน์ ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องมาจาก อาหารหรือสารในอาหารปริมาณหนึ่งอาจเป็นคุณ แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปอาจจะเกิดโทษได้ นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่อาหารที่มีประโยชน์สำหรับคนกลุ่มหนึ่งอาจเป็นภัยต่อคนกลุ่มอื่นที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน ดังนั้นบทบาทของนักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการจึงเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญไปสู่… สังคมอาหารปลอดภัย
จุดเด่น / ความมีเอกลักษณ์ของหลักสูตรที่ต่างจากสถาบันอื่น
เป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทย และหลักสูตรลักษณะเดียวกันมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก
อาชีพที่ประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
- สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข
- ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศูนย์ประเมินความเสี่ยงแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- กรมวิชาการเกษตร และ ศูนย์วิจัยการเกษตรจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ โรงพยาบาลมะเร็งสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
- มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯ
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยมีการเชิญบุคลากรจากหน่วยงานดังกล่าวมาร่วมเป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนการดูงานในสถานที่จริง การทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ การแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ
รูปแบบการเรียนการสอน
การเรียนการสอนมีหลายรูปแบบหลากหลาย เน้นการ ทั้ง- การบรรยายแบบปฏิสัมพันธ์ (interactive lecture)
- อภิปรายกลุ่มจากกรณีศึกษา (case study)
- การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (problem-based learning)
- สัมมนา (seminar) ในหัวข้อที่นักศึกษาเป็นผู้เลือก
- ดูงาน (field trip) ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง
- ฝึกปฏิบัติออกแบบการวิจัยและการใช้สถิติในการวิจัยจากโจทย์วิจัยที่นักศึกษาสนใจ
- ฝึกปฏิบัติการ (laboratory practice) ในหลอดทดลอง เซลล์และสัตว์ทดลอง
- บทบาทสมมติ (role play) ในฐานะผู้ประกอบการ และผู้ประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์
- ดำเนินโครงการวิจัย 1 เรื่อง เขียนวิทยานิพนธ์และบทความวิจัย
สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับเมื่อได้เข้ามาศึกษา และสำเร็จการศึกษาออกไป
หลักสูตรคาดหวังว่า เมื่อจบการศึกษา มหาบัณฑิตสามารถ- วิเคราะห์ปัญหาอาหารปลอดภัยในสังคมไทยได้
- ประพฤติตนยึดมั่นต่อศีลธรรมและจริยธรรมอันดี
- เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางพิษวิทยาและโภชนาการเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยอาหารได้
- ออกแบบ พัฒนาและดำเนินการวิจัยด้านพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัยได้
- สืบค้นและติดตามข้อมูลที่ทันสมัย วิเคราะห์ ประเมินและวิจารณ์ความน่าเชื่อถือของผลงานตีพิมพ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตนเอง
- ประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยอาหาร
- ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นทีมได้
- ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนำเสนอและรายงานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แก่สาธารณะเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยได้
- เลือกใช้วิธีทดสอบทางพิษวิทยาได้อย่างเหมาะสม
- ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อออกแบบการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล และแปลความหมายผลการวิจัย ได้อย่างเหมาะสม
ความภาคภูมิใจ / งานวิจัยที่โดดเด่น / ศิษย์เก่าที่เด่นดัง
นักศึกษาในหลักสูตรได้รับทุน/รางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ- รางวัลวิทยานิพนธ์ดี ระดับปริญญาโท ประจำปี 2559 กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพประยุกต์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ
- รางวัลชนะเลิศ Nutrilite Research Award ปี 2559
- ทุนวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2557, 2558, 2559
- ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์บางส่วน จากสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2559, 2560
ทุนการศึกษา / สวัสดิการ
มีทุนการศึกษาแบบต่างๆ ดังนี้- ทุนเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี ครองราชสมบัติ จำนวน 2 ทุน (ทุนสำหรับค่าลงทะเบียนหน่วยกิตวิชา ค่าบำรุงการศึกษาทั้งหมด ตลอด 2 ปี นักศึกษาชำระเองเฉพาะค่าลงทะเบียนวิทยานิพนธ์) โดยนักศึกษาต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป และมีคะแนนภาษาอังกฤษ MU-grad test ตั้งแต่ 60 ขึ้นไป
- ทุนแรกเข้า จำนวน 1 ทุน เป็นเงิน 80,000 บาท (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดการศึกษา 2 ปี) สำหรับนักศึกษาที่ทำคะแนนสอบเข้าได้สูงที่สุด
- ทุนเรียนดี จำนวน 1 ทุน เป็นเงิน 20,000 บาท (ค่าลงทะเบียน) สำหรับนักศึกษา ปี 2 ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPA) ในปีการศึกษาแรกสูงที่สุด
- ทุนการศึกษา "จรีพร เทพผดุงพร มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ" จำนวน 1 ทุน เป็นเงิน 20,000 บาท (ค่าลงทะเบียน) สำหรับนักศึกษาปี 2 ที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
สวัสดิการ
- นักศึกษาในหลักสูตรชั้นปี 1-3 จะได้รับการสนับสนุนประกันอุบัติเหตุตลอดหลักสูตร ซึ่งใช้ได้กับทั้งอุบัติเหตุในและนอกสถานศึกษา ในและนอกเวลาราชการ
- ระบบ e-learning ซึ่งมีการบรรจุเอกสารประกอบการสอนล่วงหน้า นักศึกษาสามารถเตรียมตัว และทบทวนบทเรียนได้สะดวก
- สามารถเข้าร่วมประชุมวิชาการที่นักศึกษาสนใจในวงเงิน 3,000 บาท
- บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีฐานข้อมูลรายงานวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก สามารถค้นรายงานวิจัยด้วยตนเองหรือขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์เมื่ออยู่ที่ใดก็ได้ที่มีอินเตอร์เน็ต
- ห้องพักนักศึกษาซึ่งมีเครื่องพิมพ์ (printer) ให้บริการในราคาย่อมเยา โดยนักศึกษานำกระดาษมาเอง
เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าศึกษา
ขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาก่อนวันที่ 30 มิถุนายน โดยจบระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีการศึกษาวิชาอินทรีย์เคมี หรือชีวเคมีหรือสรีรวิทยา อย่างน้อย 2 หน่วยกิต โดยมีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม ไม่ต่ำกว่า 2.50 สมัครเข้าสมัครเข้า ศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัยผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่
http://www.grad.mahidol.ac.th/th/prospective-students/view.php?id=7402M02Gช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ , งานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. ๐ ๒๔๔๑ ๙๑๒๙ ,๐ ๒๔๔๑ ๔๑๒๕ ต่อ ๒๐๘ – ๒๑๐, ๑๑๒ – ๑๑๓