เปิดให้ทดลองใช้งานเว็บไซต์หลัก (เวอร์ชั่นใหม่)Go

   วันเสาร์ที่   20   เมษายน   พ.ศ. 2567

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

ดร.สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์
ประธานหลักสูตรหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
HUMAN RIGHTS AND PEACE STUDIES (THAI PROGRAM )
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

"หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่เปิดสอนด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์"

ความเป็นมา/ความสำคัญของการจัดทำหลักสูตร

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เป็นหลักสูตรที่เกิดจากความต้องการที่จะบูรณาการศาสตร์ทางสิทธิมนุษยชนศึกษาเข้ากับศาสตร์ทางความขัดแย้งศึกษาและสันติศึกษา ซึ่งเกิดภายหลังการรวมตัวกันของสองศูนย์ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลคือ ศูนย์สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม (ก่อตั้งปี 2541) และ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ก่อตั้งปี 2547) เป็น "โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา" ในปีพ.ศ. 2554 หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่พัฒนาต่อยอดจาก หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สังกัดศูนย์สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม (เดิม) ที่เริ่มเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หลักสูตรเน้นวิธีการเรียนรู้แบบสหวิทยาการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และมุ่งให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนทักษะในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน สามารถวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับของประเทศไทย ระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพได้อย่างเชื่อมโยงและมีพลวัต และสามารถวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ผ่านมุมมองสิทธิมนุษยชนความขัดแย้งและสันติภาพเพื่อแปรผลการเรียนรู้ไปสู่การทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

เครือข่ายความร่วมมือ

หลักสูตรฯ มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ยะลา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสันติศึกษาและสิทธิมนุษยชน มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น การอบรม การสัมมนาทางวิชาการ และการวิจัย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือแบบไม่เป็นทางการในลักษณะเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษากับหน่วยงานของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งและสถาบันวิจัยสังคม) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา


รูปแบบการเรียนการสอน / วิจัย

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาให้การศึกษาด้านทฤษฎีวิธีวิจัยและการศึกษาปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทยรวมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสันติภาพและสันติวิธีอย่างเชื่อมโยงมีพลวัตและเป็นสหวิทยาการเพื่อเสริมองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอย่างเป็นระบบแก่ผู้เรียน หลักสูตรฯ เน้นการเสริมสร้างความเข้าใจและการวิเคราะห์โครงสร้างบริบทสังคมไทยและการนำมาตรฐานและกลไกสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับสากลและระดับชาติมาใช้ในบริบทท้องถิ่นเพื่อเสริมการทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีความรู้ด้านศีลธรรมและจริยธรรมของวิชาชีพอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติและบริบทต่างๆ ของสังคม

นอกจากนี้ หลักสูตรฯยังมุ่งเสริมทักษะปฏิบัติการและการวิเคราะห์ให้แก่นักศึกษา โดยสนับสนุนให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการวิจัย และบริการวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันฯ การเข้าร่วมโครงการต่างๆเหล่านี้เป็นโอกาสที่นักศึกษาจะได้นำความรู้เชิงวิชาการไปประยุกต์ในการปฏิบัติงานสาขาต่างๆ และยังเป็นการช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพให้เกิดขึ้นและตั้งมั่นเข้มแข็งในสังคม

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  1. นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  2. นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  3. ผู้นำองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ในการกำหนดหรือส่งเสริมนโยบายเชิงสังคมต่างๆ
  4. กระบวนกร และผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ และการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง
  5. อาชีพอื่น ๆ เช่น พนักงานภาคธุรกิจเอกชน ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และในสังกัดกระทรวงต่างๆที่รับผิดชอบประเด็นสังคม การเมือง การเมืองระหว่างประเทศ และสิ่งแวดล้อม ผู้สื่อข่าวสังคม การเมือง การเมืองระหว่างประเทศ และสิ่งแวดล้อม ที่มีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ทั้งนี้ ความรู้ในสาขาวิชาดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และในการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

ความภาคภูมิใจ / งานวิจัยที่โดดเด่น

หลักสูตรฯ ส่งเสริมให้นักศึกษาทำการค้นคว้าวิจัยในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ โดยมีประเด็นหลักๆ ๗ ประเด็น ได้แก่
  1. ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้
  2. การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
  3. สิทธิในการจัดการทรัพยากร
  4. สิทธิมนุษยชนและสันติภาพในอาเซียน
  5. การเรียนการสอนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ
  6. การไร้ถิ่นและความไร้รัฐ และ
  7. ศาสนา ชาติพันธุ์และความหลากหลาย

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

หลักสูตรฯ เปิดการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ศิษย์เก่าของหลักสูตรยังมีไม่มาก แต่ปัจจุบันก็มีศิษย์เก่าที่จบจากหลักสูตรไปมีตำแหน่งหน้าที่การงานทั้งในส่วนของราชการ ภาคเอกชน และ NGO แต่ยังไม่มีศิษย์เก่าคนใดที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางในวงสังคม

ทุนการศึกษา

หลักสูตรฯ พิจารณาให้ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์จำนวน 10,000 บาทให้แก่นักศึกษาที่เรียนดีมาตั้งแต่ปี 2559 โดยทุนดังกล่าวมีชื่อว่า "ทุนปาริชาด สุวรรณบุบผา" ทุนจำนวนนี้จัดสรรจาก "กองทุนหลักสูตรไทยสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา" ซึ่งเป็นกองทุนที่หลักสูตรได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนสนับสนุนและช่วยเหลือนักศึกษาโดยเฉพาะ เงินที่นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนดังกล่าวมาจากเงินบริจาคจากที่ปรึกษาและคณาจารย์ของสถาบันฯ นอกจากนี้นักศึกษาของหลักสูตรยังสามารถสมัครเข้าชิงทุนของบัณฑิตวิทยาลัย ทุนสมาคมศิษย์เก่ามหิดลประเภทต่างๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบันหลักสูตรฯ พยายามมองหาแหล่งทุนภายนอกทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่จะสนับสนุนให้กับนักศึกษาในหลักสูตรต่อไป

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าศึกษา

หลักสูตรฯ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จบปริญญาตรีทุกสาขาวิชาก็สามารถเรียนได้ หรือหากมีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษากรรมการจะพิจารณาเป็นพิเศษ ในฐานะประธานหลักสูตรมีความมั่นใจว่าเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษานี้ไปแล้วจะสามารถวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงและความขัดแย้งและสามารถวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาสังคม ผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีเพื่อแปรผลการเรียนรู้ไปสู่การทำงานสาขาต่าง ๆ ได้

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

http://www.grad.mahidol.ac.th/th/prospective-students/view.php?id=7703M02G
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ , งานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. ๐ ๒๔๔๑ ๙๑๒๙ ,๐ ๒๔๔๑ ๔๑๒๕ ต่อ ๒๐๘ – ๒๑๐, ๑๑๒ – ๑๑๓