เปิดให้ทดลองใช้งานเว็บไซต์หลัก (เวอร์ชั่นใหม่)Go

   วันศุกร์ที่   19   เมษายน   พ.ศ. 2567

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล

รศ. ดร.สุรพล พิบูลโภคานันท์
ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)
Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Systems Biosciences (International Program)
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

"หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ มุ่งเน้นผลิตนักวิจัย และนักวิชาการระดับสูง ที่มีความรู้พหุวิทยาการทางด้านชีววิทยาศาสตร์ พัฒนางานวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้เดิม หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบของประเทศไทย"

ความเป็นมา ความสำคัญของการจัดทำหลักสูตร

เนื่องจากปัจจุบันองค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์มีการพัฒนาอย่างกว้างไกล อาทิ องค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ระดับเซลล์และโมเลกุล ชีวสารสนเทศระดับพันธุกรรม ทรานส์คริปโตมิคส์ (transcriptomics) โปรตีโอมิคส์ (proteomics) และการควบคุมนอกเหนือพันธุกรรม (epigenomics) ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้ถูกนำมาพัฒนาร่วมกันทำให้เกิดศาสตร์แบบพหุวิทยาการที่เรียกว่า ชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (Systems Biosciences) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจความซับซ้อนและความสัมพันธ์ของกลไกการทำงานในระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานพร้อมกัน อาทิ การศึกษากลไลการควบคุมการทำงานระหว่างยีนหลายตัว (multiple regulation networks) การศึกษาปฎิสัมพันธ์ระหว่างสารพันธุกรรมและโปรตีน (DNA-protein interaction) การศึกษาปฎิสัมพันธ์ของอาร์เอ็นเอที่ไม่ถอดรหัส (non-coding RNA) ต่อโมเลกุลอื่น หรือกระบวนการย้อนกลับของเซลล์โดยการควบคุมนอกเหนือพันธุกรรม (epigenetic cell reprogramming) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงพัฒนาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเกิดจากการรวบรวมคณาจารย์ที่มีงานวิจัยที่หลากหลาย และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้เกิดหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนแบบบูรณาการสหสาขาวิชา (multidisciplinary) จากความเชี่ยวชาญในแขนงที่แตกต่างกันของผู้สอน เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถพัฒนางานวิจัยเพื่อศึกษาความซับซ้อนและความสัมพันธ์ของกลไกการทำงานในระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตอีกทั้งเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาบุคลากร นักวิจัย และนักวิชาการทางด้านชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบของประเทศไทย

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)


จุดเด่น ความแตกต่างของหลักสูตรที่ต่างจากสถาบันอื่น

  1. หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบเน้นการศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการสหสาขาวิชา (multidisciplinary) โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในความซับซ้อนและความสัมพันธ์ของกลไกการทำงานในระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต อันจะนำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่
  2. หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบสังกัดภายใต้สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและนักวิจัยที่มีคุณภาพ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานและทันสมัย รวมถึงเป็นสถาบันวิจัยที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันวิจัยอื่น ๆ ทั้งภายในประเทศและนานาชาติ
  3. มีอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีความรู้ความชำนาญในงานวิจัยหลายสาขาตั้งแต่ระดับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic sciences) จนถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (applied sciences) โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ (medical sciences) ซึ่งจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต


หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)


ความร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบันภายนอก

คณาจารย์ในหลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบมีความร่วมมือและเครือข่ายงานวิจัยกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ
มหาวิทยาลัยมหิดล: ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
หน่วยงานภายในประเทศ: องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยนเรศวร หน่วยงานต่างประเทศ ได้แก่
  • Australia: Murdoch Childrens research Institute, Monash University, Federation University, Universityof Melburn
  • Brunei: Universiti Brunei Darussalam
  • Canada: Universite de Montreal, Ottawa Hospital Research Institute
  • China: Guangxi Medical University
  • Denmark: Bioneer A/S with Christian Clausen and Bjørn Holst, University of Copenhagen
  • Ecuador: Universidad de Las Américas
  • Egypt: Ciro University
  • France: University of Nice Sophia Antipolis, International Agency for Research on Cancer (IARC/WHO)
  • Hungary: BioTalentum Ltd.
  • Japan: Kyushu University, Tokyo University, Osaka University, Kyoto University, National Institute of Infectious Diseases
  • Vietnam: University of Science and Technology of Hanoi
  • UK: Coventry University, King's College London, Kingston University, Oxford University, University of Bristol, University of Cambridge, University of Wesminster, Queen's University of Belfast
  • USA: Harvard Medical School, Boston University School of Medicine, University of Michigan Medical School, School of Veterinary Medicine; Louisiana State University, University of Texas Medical Branch, Department of Microbiology Mount Sinai School of Medicine, Armed Forces Research Institute of Medical Sciences

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

รูปแบบการเรียนการสอน

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมความพร้อมของบัณฑิตที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก โดยรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะต้องลงวิชาความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะศึกษารายวิชาและวิทยานิพนธ์ในรูปแบบเดียวกับนักศึกษาที่เข้าหลักสูตรด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท รูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นงานวิจัยควบคู่กับการศึกษา สร้างความเข้าใจในองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยใช้การปฏิบัติงานวิจัย เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และเพิ่มพูนความเข้าใจจากการปฏิบัติงานจริง

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับเมื่อได้เข้ามาศึกษา และสำเร็จการศึกษาออกไป / อาชีพที่ประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

หลักสูตรฯ มุ่งเน้นให้การศึกษาด้านพื้นฐานในสาขาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ เพื่อให้นักศึกษาเมื่อจบหลักสูตรมีความรู้ ความสามารถในการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ โดยหลักสูตรฯ มุ่งหวังจะผลิตบัณฑิตตาม "คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตร" ดังนี้
  1. มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณและมีความซื่อสัตย์ในการปฎิบัติงาน
  2. มีความรู้ สร้างสรรค์ พัฒนาและบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมทางชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางชีววิทยาศาสตร์ได้อย่างเป็นระบบ
  3. สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์องค์ความรู้แบบสหวิทยาการ ผลิตผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติและนำเสนอองค์ความรู้ทางชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบได้อย่างเหมาะสม
  4. มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีความสัมพันธ์อันดีต่อเพื่อนร่วมงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีภาวะผู้นำ
  5. มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสืบค้น สื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบได้อย่างเหมาะสม อาชีพที่นักศึกษาสามารถประกอบได้เมื่อจบหลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ ได้แก่ ผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษา นักวิจัยทางด้านชีววิทยาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ ต่างประเทศ และบริษัทเอกชน นักวิชาการที่ให้คำปรึกษาด้านชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบหรือผู้ประกอบการธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

ความภาคภูมิใจ / งานวิจัยที่โดดเด่น / ศิษย์เก่าที่เด่นดัง

ถึงแม้หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบจะเป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานนัก แต่บุคลากรของหลักสูตรฯ ล้วนแล้วแต่ทำงานวิจัยอย่างเข้มแข็งและมีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในเชิงเพิ่มพูนองค์ความรู้พื้นฐาน แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาทิ งานวิจัยของ อ.ดร.อลิสา ทับสุวรรณ (ในขณะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกและทำวิจัยที่ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมียของสถาบันฯ) ได้ใช้เทคโนโลยีการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดชนิดเหนี่ยวนำ (induced pluripotent stem cells; iPS) ร่วมกับวิธียีนบำบัด (gene therapy) เพื่อใช้เป็นเซลล์ทางเลือกสำหรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ และ อ.ดร.อลิสา ยังคงมีงานวิจัยต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยี CRISPR/Cas9 ในการแก้ไขมิวเตชั่นที่เป็นสาเหตุของโรคธาลัสซีเมียในเซลล์ต้นกำเนิดชนิดเหนี่ยวนำ ซึ่งล่าสุดได้รับทุน Junior Research Fellowship ประจำปี ๒๐๑๗ จากสถานทูตฝรั่งเศส เพื่อทำงานวิจัยและสร้างความร่วมมือกับ Institut des Maladies Emergentes et des ThérapiesInnovantes ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของหลักสูตรชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลอย่างมาก นอกจากนี้คณาจารย์ในหลักสูตร ยังมุ่งเน้นการต่อยอดพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง อาทิ ผลงานวิจัยของ รศ. ดร.สุรพล พิบูลโภคานันท์ ซึ่งวิเคราะห์หาโปรตีนก่อภูมิแพ้อาหารโดยเน้นเฉพาะกุ้งน้ำจืดและกุ้งทะเล เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการออกแบบชุดตรวจภูมิแพ้อาหารที่ปรุงจากกุ้ง เพื่อช่วยให้การตรวจวินิจฉัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถระบุความรุนแรงของอาการแพ้ ทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาวิธีการบำบัดรักษาการแพ้ (Food Immunotherapy) และผลงานวิจัยของ รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา ซึ่งได้พัฒนาชุดทดสอบสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในสัตว์ที่เกิดจากการติดเชื้อ F. gigantica ซึ่งชุดทดสอบนี้มีประสิทธิภาพและความไวสูง สามารถตรวจสอบได้ในเวลารวดเร็วรวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ทางหลักสูตรฯ ยังสนับสนุนให้บุคคลากรได้พัฒนาศักยภาพในการสอนและงานวิจัย โดยส่งเสริมให้สร้างเครือข่ายงานวิจัยในระดับนานาชาติ ทั้งในรูปแบบการนำเสนอผลงานในงานประชุมหรือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัยในองค์กรต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ เพื่อนำประสบการณ์มาถ่ายทอดให้นักศึกษาหรือบุคคลากรในหลักสูตรฯ ต่อไป

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (หลักสูตรนานาชาติ)

ทุนการศึกษา / สวัสดิการ

นักศึกษาในหลักสูตรชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ จะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาหรือทุนวิจัยทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) อีกทั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้สนับสนุนทุนการศึกษาหรือทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา อาทิ ทุนผู้ช่วยวิจัยบัณฑิตศึกษา (RA: Research Assistantships) ทุนเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ ปีครองราชสมบัติ ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์บางส่วน ทุนอุดหนุนในการพัฒนานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อไปเสนอผลงานทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น และ รางวัลเกียรติยศแก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลการศึกษาดีเยี่ยม (Dean's List) เป็นต้น

เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าศึกษา

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

http://www.grad.mahidol.ac.th/en/prospective-students/view.php?id=7204D01G
http://www.mb.mahidol.ac.th/en/index.php/admissions/systems-biosciences.html
https://www.facebook.com/Systems.Biosciences.Mahidol/
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ตุลาคม – เมษายน ของทุกปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
รศ. ดร.สุรพล พิบูลโภคานันท์
โทรศัพท์ : (+662) 441-9003-7 ต่อ 1233, 1261
E-mail: piboons@gmail.com

หรือ อ. ดร.ชุติมา เทพฤทธิ์
โทรศัพท์ : (+662) 441-9003-7 ต่อ 1420
E-mail: chutima.thp@mahidol.ac.th