Mahidol University
Home Message from the Dean Feedback Sitemap
English Version
เกี่ยวกับบัณฑิตวิทยาลัย ข้อมูลด้านการศึกษา การรับสมัคร ข้อมูลหลักสูตรการศึกษา กิจกรรมต่างๆ งานวิจัย/วิทยานิพนธ์ ทุนการศึกษา กระดานข่าว
       
 
  ข่าวประชาสัมพันธ์  
  ประชุมวิชาการ  
  อบรมและสัมมนา  
  กิจกรรมนักศึกษา  
  บัณฑิตศึกษาสารสนเทศ  
  ข่าวรับสมัครงาน  
  ภาพกิจกรรม  
  Visual media of Interest  
Events
Mahidol University
   
   
เรื่อง คำแนะนำการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
  Post Date 3 มี.ค. 2554

คำแนะนำการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

การแต่งกายในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร
  1. บัณฑิตชาย (ระดับปริญญาตรี , โท , เอก) สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวแต่งชุดสากลสีกรมท่า และกระดุมต้องไม่เป็นโลหะ (ห้ามใช้ชุดสากลสีดำ) ผูกเนคไทของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือสีน้ำเงิน และบัณฑิตสถาบันสมทบมหาวิทยาลัยมหิดล ให้แต่งเครื่องแบบนักศึกษาของสถาบัน สวมถุงเท้าสีเข้มแบบสุภาพ และสวมรองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำแบบสุภาพไม่ติดสิ่งประดับตกแต่งใด ๆ (ที่เป็นโลหะ) สวมครุยวิทยฐานะ ตัดผมรองทรง ห้ามไว้เล็บยาว
  2. บัณฑิตหญิง (ระดับปริญญาตรี , โท , เอก) แต่งเครื่องแบบนักศึกษา กระโปรงสีน้ำเงินเข้ม (ห้ามใช้สีดำ) ไม่ควรแคบ หรือยาวมาก สั้นมากนัก เพราะจะถอนสายบัวไม่ถนัด ติดโบว์ไทมหาวิทยาลัยมหิดล และบัณฑิตสถาบันสมทบมหาวิทยาลัยมหิดล ให้แต่งเครื่องแบบนักศึกษาของสถาบัน สวมถุงน่องสีเนื้อไม่มีลวดลาย รองเท้าหุ้มส้นสีดำ แบบสุภาพไม่ติดสิ่งประดับตกแต่งใดๆ (ที่เป็นโลหะ) ส้นรองเท้าไม่แหลม สวมครุยวิทยฐานะ และไม่ทำผมปิดหน้า ไม่สวมเครื่องประดับ เช่น สายสร้อย แหวน โบว์ติดผม ห้ามไว้เล็บยาว ส่วนบัณฑิตที่ตั้งครรภ์ให้สวมชุดคลุมท้องสีขาวล้วน โดยให้สั้นกว่าชุดครุย
  3. บัณฑิต (ทุกระดับ)
    - ผู้ที่เป็นข้าราชการพลเรือนให้แต่งเครื่องแบบปกติขาว สวมครุยวิทยฐานะ
    - ผู้ที่เป็นข้าราชการทหารหรือตำรวจ ให้แต่งเครื่องแบบตามต้นสังกัด ใช้หมวกวิทยฐานะแทนหมวกเครื่องแบบ ในกรณีที่ได้รับยศ แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานกระบี่ขอให้จัดหาไปด้วย
    - ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และซิกส์ ไม่ต้องสวมหมวกวิทยฐานะ
       บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตสวมครุยวิทยฐานะตามระดับและสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และเอก ต้องสวมครุยวิทยฐานะที่ใช้แถบกำมะหยี่สีตามสีประจำสาขาวิชาให้ถูกต้อง เช่น ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) สาขาวิชาเอก "พยาบาลสาธารณสุข" ใช้แถบกำมะหยี่สีตามสีประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คือ "สีเหลืองทอง" ไม่ใช่ "สีชมพู" ดังนั้น ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) จึงต้องใช้แถบกำมะหยี่ "สีเหลืองทอง" เป็นต้น
  4. บัณฑิตระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก ประกาศนียบัตรวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และประกาศนียบัตรบัณฑิต
    4.1 บัณฑิตชาย
    สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว แต่งชุดสากลสีกรมท่า และกระดุม ต้องไม่เป็นโลหะ (ห้ามใช้ชุดสากลสีดำ) สวมครุยวิทยฐานะเดิม ที่ได้รับก่อน มาศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตฯ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล สวมถุงเท้า สีเข้มแบบสุภาพ และสวมรองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ แบบสุภาพไม่ติดสิ่งประดับตกแต่งใด ๆ (ที่เป็นโลหะ) ตัดผมรองทรง ห้ามไว้เล็บยาว
    4.2 บัณฑิตหญิง
    สวมเสื้อสีขาว กระโปรงสีน้ำเงินเข้ม (ห้ามใช้สีดำ ไม่ควรแคบ ยาวมาก หรือสั้นมากนัก เพราะจะถอนสายบัวไม่ถนัด) ติดโบว์ไทมหาวิทยาลัย มหิดล สวมครุยวิทยฐานะเดิม ที่ได้รับก่อนมาศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร บัณฑิตฯ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล สวมถุงน่องสีเนื้อ ไม่มีลวดลาย รองเท้าหุ้มส้น สีดำแบบสุภาพไม่ติดสิ่งประดับตกแต่งใด ๆ (ที่เป็นโลหะ) ส้นรองเท้าไม่แหลม และไม่ทำผมปิดหน้า ไม่สวมเครื่องประดับ เช่น สายสร้อย แหวน โบว์ติดผม ห้ามไว้เล็บยาว
การเดินเข้ารับพระราชปริญญาบัตร


จังหวะต่างๆ ที่จะต้องฝึกหัดให้ถูกต้องและคล่องแคล่ว มีดังนี้
  1. เดินหน้าที่ประทับ เดินตัวตรงไม่แกว่งแขน และหยุดยืนตรงตำแหน่งที่กำหนด
  2. ยืนตรง ชิดเท้า แขนแนบลำตัว
  3. ถวายความเคารพ
    3.1 ชายและหญิงที่สวมเครื่องแบบ
       ยืนตรงชิดเท้า แล้วโค้งตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นไป ก้มศรีษะ การโค้งให้มีจังหวะเนิบอย่างสวยงาม
    3.2 ชายและหญิงที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ
       หญิง ยืนตรงชิดเท้า แล้วชักเท้าข้างหนึ่งไปข้างหลัง ให้เท้าปัดไปทางตรงข้ามเล็กน้อย พร้อมกับงอเข่าย่อตัวให้ต่ำ
       ให้มือขวาทับมือซ้าย ตัวตรง ก้มศรีษะเล็กน้อย แล้วยืดขาขึ้น พร้อมกับเอามือ ทั้งสองยันเข่าดันตัวขึ้นแล้วชักเท้ามายืนตรง
       เช่นเดิม
       ชาย ยืนตรงชิดเท้า แล้วโค้งตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นไป ก้มศรีษะ การโค้งให้มีจังหวะเนิบอย่างสวยงาม
  4. เอางาน เป็นการถวายความเคารพเวลารับพระราชทานปริญญาบัตร ให้ยืนหน้าตรงยื่นแขนขวาออกไปพองาม กระดกข้อมือขึ้นเล็กน้อย แล้วหงายมือรับพระราชทานตรงกลางสมุดปริญญาบัตร ม้วนมือให้สมุดปริญญาบัตรแนบกับกึ่งกลางหน้าอก
  5. ถอยหลังเฉียง เมื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรมาแล้ว บัณฑิตจะต้องเดินตัวตรงถอยหลังเฉียงประมาณ 45 องศา 3 ก้าวทันที โดยไม่หันไปหันมา
  6. กลับตัวหน้าที่ประทับ เมื่อถอยหลังเฉียงมาถึงจุดที่กำหนดไว้ ให้ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงกลับตัวโดยหมุนขวาเดินลงเวทีไป
  7. ถือปริญญาบัตร ให้ถือสมุดปริญญาบัตรแนบกับอก อยู่ในแนวตั้ง ข้อศอกติดกับลำตัว อย่าถือสมุดปริญญาบัตรห้อยลงข้างตัวเป็นอันขาด
  8. ขอให้บัณฑิตฝึกซ้อมและปฏิบัติทุกอย่างตามนี้ให้ถูกต้องหลายๆครั้ง เพื่อให้คล่องแคล่ว ไม่ขัดเขิน ทั้งดูงาม ทำได้รวดเร็ว และแม่นยำตามเวลาที่กำหนด ถ้าซ้อมน้อยอาจจะผิดพลาดและปรากฏภาพที่ไม่บังควรต่อหน้าที่ชุมชน โปรดดูแผนผังแสดงการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัย
ปริญญาเอก
  • เสื้อครุย ทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำเย็บเป็นเสื้อคลุมยาวเหนือข้อเท้าประมาณ 15 เซนติเมตร หลังจีบ ตัวเสื้อผ่าอกตลอด มีแถบกำมะหยี่สีตามสีประจำสาขาวิชา กว้าง 12.5 เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง และโอบรอบคอเสื้อ ปลายแขนปล่อยกว้างยาวระดับข้อมือ ตอนกลางแขนทั้งสองข้างมีแถบกำมะหยี่สีตามสีประจำสาขาวิชากว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร พับปลายแถบเป็นมุมแหลม จำนวนข้างละสามแถบติดเรียงกันระยะห่าง 5 เซนติเมตร
  • ผ้าคล้องคอ ยาว 120 เซนติเมตร ด้านนอกทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำเช่นเดียวกับเสื้อด้านในทำด้วยผ้าหรือแพรสีน้ำเงิน และให้แลบเป็นขลิบกว้าง 1 เซนติเมตร
  • หมวก แผ่นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ 25 เซนติเมตร ทำด้วยผ้าหรือสักหลาดสีดำ มีพู่ทำด้วยดิ้นทองให้ปลายห้อยพ้นปกหมวกพอสมควร
ปริญญาโท
  • เสื้อครุย เช่นเดียวกับครุยปริญญาเอก แต่แถบกำมะหยี่สีตามสีประจำสาขาวิชา ที่เย็บติดเป็นสาบกว้าง 7.5 เซนติเมตร ตอนกลางแขนทั้งสองข้างไม่มีแถบกำมะหยี่
  • ผ้าคล้องคอ เช่นเดียวกับผ้าคล้องคอปริญญาเอก แต่ความยาวของผ้าคล้องคอยาว 105 เซนติเมตร
  • หมวก เช่นเดียวกับหมวกปริญญาเอก แต่มีพู่ทำด้วยผ้าไหมสีดำให้ปลายห้อยพ้นปกหมวกพอสมควร
ปริญญาตรี
  • เสื้อครุย เช่นเดียวกับครุยปริญญาโท แต่แถบกำมะหยี่สีตามสีประจำสาขาวิชา ที่เย็บติดเป็นสาบกว้าง 5 เซนติเมตร ตอนกลางแขนทั้งสองข้างไม่มีแถบกำมะหยี่
  • ผ้าคล้องคอ เช่นเดียวกับผ้าคล้องคอปริญญาโท แต่ความยาวของผ้าคล้องคอยาว 90 เซนติเมตร
  • หมวก เช่นเดียวกับหมวกปริญญาโท แต่มีพู่ทำด้วยผ้าไหมสีดำให้ปลายห้อยพ้นปกหมวกพอสมควร
เสื้อครุยควรเลือกใช้ขนาดที่พอเหมาะกับรูปร่างของแต่ละคน ถ้ายาวควรเนาให้สั้นประมาณครึ่งแข้ง มิฉะนั้นส้นรองเท้าของบัณฑิตหญิงจะเกี่ยวชายเสื้อครุย ทำให้สะดุดและอาจหกล้มง่ายขณะที่ถอนสายบัว
สีประจำสาขาวิชา
  1. สาขาวิชาการจัดการ สีฟ้า
  2. สาขาวิชาการบริหารสาธารณสุขมูลฐาน สีส้ม
  3. สาขาวิชาการบัญชี สีฟ้าอ่อน
  4. สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สีเทา
  5. สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ สีเม็ดมะปราง
  6. สาขาวิชาเทคโนโลยี สีชมพูกลีบบัว
  7. สาขาวิชาบริหารธุรกิจ สีฟ้าเข้ม
  8. สาขาวิชาประชากรศาสตร์ สีแดง
  9. สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สีขาว
  10. สาขาวิชาแพทยศาสตร์ สีเขียว
  11. สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ สีเขียวมะกอก
  12. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์
    - ทั่วไป สีเหลืองทอง
    - วิชาพยาบาล สีเหลืองแกมแดงอ่อน
    - เฉพาะปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สีน้ำเงินเข้ม
  13. สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สีแดงเลือดหมู
  14. สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ สีชมพูแก่
  15. สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ สีฟ้าหม่น
  16. สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สีชมพู
  17. สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิก สีน้ำเงินแกมม่วง

ข้อห้ามปฏิบัติ
  1. ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร บัณฑิตชายและหญิง ห้ามใส่เครื่องประดับใดๆ ห้ามใส่นาฬิกาที่ข้อมือขวา และห้ามไว้เล็บยาว
  2. ในวันพิธีฯ เมื่อเข้าไปในบริเวณพิธีแล้ว ขอให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เคารพต่อสถานที่ ไม่นำของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทานหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ตลอดจนไม่นำหนังสือทุกชนิดเข้าไปอ่าน
  3. ต้องไม่นำวัตถุที่เป็นโลหะและเหรียญติดตัว เนื่องจากก่อนเข้าอาคารพิธี (อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์) จะมีเครื่องตรวจโลหะ
  4. ห้ามถ่ายรูปภายในหอประชุมกองทัพเรือ
  5. ห้ามนำสิ่งของต่างๆ เช่น กล้องถ่ายรูป กระเป๋าถือ ช่อดอกไม้ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เศษสตางค์ หรือเอกสารต่างๆ เป็นต้น ติดตัวเข้าไปในหอประชุมกองทัพเรือ เพื่อความปลอดภัย ขอให้ฝากญาติไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าภายในหอประชุมกองทัพเรือ มหาวิทยาลัยจะไม่รับฝากของต่างๆ ของบัณฑิตและผู้ปกครอง
  6. เมื่อเดินเข้าสู่หอประชุมกองทัพเรือ ห้ามออกจากแถว หรือกลับออกมาอีก ถ้ามีปัญหาอะไรให้แจ้งอาจารย์ผู้ควบคุมแถวบัณฑิตของแต่ละคณะ หรืออาจารย์ที่รักษาความปลอดภัยในหอประชุมกองทัพเรือ
  7. เมื่ออยู่ภายในหอประชุมกองทัพเรือแล้ว ห้ามออกมาข้างนอกเพื่อพบญาติหรือบุคคลอื่น หรือเพียงเพื่อหาเครื่องดื่ม หรือสูบบุหรี่ โดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอาจารย์ที่ควบคุมเป็นกรณีไป
  8. อย่าเก็บความสงสัยหรือข้อข้องใจสิ่งใดไว้ จนอาจทำให้ปฏิบัติตัวผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง ให้รีบถามอาจารย์ที่อยู่ใกล้ๆ ท่าน ซึ่งอาจารย์เหล่านั้นจะให้คำแนะนำและช่วยเหลือท่านได้เสมอ

 
ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อมูลโดย
โทร 0-2441-4125 ต่อ 211-213 โทรสาร 0-2441-9511 งานกิจการนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย
 
ข่าวอื่นๆ

Back Go to top page
You are visitor number
Since 14-11-2013
Graduate Studies
Mahidol University