Mahidol University
Home Message from the Dean Feedback Sitemap
English Version
เกี่ยวกับบัณฑิตวิทยาลัย ข้อมูลด้านการศึกษา การรับสมัคร ข้อมูลหลักสูตรการศึกษา กิจกรรมต่างๆ งานวิจัย/วิทยานิพนธ์ ทุนการศึกษา กระดานข่าว
       
 
  ปฏิทินการศึกษา  
  ข้อบังคับ กฎ ระเบียบต่างๆ  
  ข้อกำหนดวิทยานิพนธ์  
  อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา  
  อัตราค่าใช้จ่ายอื่นๆ  
  Download แบบฟอร์มต่างๆ  
  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ม.มหิดล  
  บริการนักศึกษา  
  ระบบพัฒนาและประกันคุณภาพ
หลักสูตรบัณฑิตศึกษา(Intranet)
 
  การจัดทำเอกสารหลักสูตรระดับ
บัณฑิตศึกษา (Intranet)
 
  จริยธรรมการวิจัย  
  การสอบ/อบรมภาษาอังกฤษ  
  Class Schedule  
Academic Information
Mahidol University
 
เรื่อง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓
 
 
Download PDF File
 

เพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีโอกาสใช้ข้อบังคับวินัยนักศึกษาเป็นกรอบและแนวทางในการใช้สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลในสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน  ซึ่งจะช่วยป้องกันนักศึกษาให้พ้นจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนในสังคมมหาวิทยาลัย

อาศัยอำนาจ ตามมาตรา   ๒๔ (๒)    แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล   พ.ศ.  ๒๕๕๐ สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในคราวประชุมครั้งที่ ๔๔๒ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ จึงออกข้อบังคับ ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓”
ข้อ ๒  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓  ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗
ข้อ ๔  ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย ”      หมายความว่า   มหาวิทยาลัยมหิดล
“ อธิการบดี ”         หมายความว่า   อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
“ ส่วนงาน ”           หมายความว่า   คณะ วิทยาลัย สถาบัน บัณฑิตวิทยาลัย รวมถึงวิทยาเขตที่มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด
“หัวหน้าส่วนงาน”  หมายความว่า   คณบดี  ผู้อำนวยการสถาบัน  รวมถึงรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลวิทยาเขตที่มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด
“ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย” หมายความว่า ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
“นักศึกษา”   หมายความว่า   นักศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี    ระดับปริญญาตรี   และระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิด
ล  

 

           หมวด ๑
               วินัยและการรักษาวินัย

ข้อ ๕  นักศึกษาต้องรักษาวินัยและจรรยาบรรณ   และปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัย และส่วนงานโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ การประพฤติผิดจรรยาบรรณที่เป็นความผิดวินัยให้ดำเนินการตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๖  นักศึกษาต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคี ความสงบเรียบร้อย ชื่อเสียง และเกียรติคุณของมหาวิทยาลัย  ห้ามก่อเหตุวุ่นวาย ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย หรือทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยหรือของบุคคลอื่น
ข้อ ๗  นักศึกษาต้องประพฤติตนเป็นสุภาพชน ไม่ประพฤติในสิ่งที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย หรือเสียหายแก่ตนเอง  บุคคลอื่นหรือมหาวิทยาลัย
ข้อ ๘  นักศึกษาต้องเชื่อฟังคำสั่ง และปฏิบัติตามคำสั่ง หรือคำตักเตือนของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๙ นักศึกษาต้องแต่งกายสุภาพ เรียบร้อย และถูกต้องตามข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานที่กำหนด 
ในกรณีที่เข้าชั้นเรียน เข้าห้องสอบ หรือติดต่อส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษาต้อง แขวน/แสดง/ติดบัตรประจำตัวนักศึกษา เพื่อให้อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ข้อ ๑๐  นักศึกษาต้องไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา ในมหาวิทยาลัยและทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย หรือเมื่ออยู่ในชุดเครื่องแต่งกายนักศึกษา 
ข้อ ๑๑  นักศึกษากระทำการดังต่อไปนี้ ถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
(๑)  เล่นการพนัน หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการพนันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการพนัน ทุกชนิด
(๒) เสพ มีไว้ในครอบครอง มีไว้เพื่อขายหรือจำหน่าย  รวมทั้งเป็นตัวแทนขาย หรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติด หรือสิ่งเสพติดให้โทษที่ผิดกฎหมาย
(๓)  กระทำการลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์  ข่มขู่ บังคับขืนใจ รีดไถบุคคลอื่น หรือทุจริตในเรื่องการเงิน
(๔)  ครอบครอง หรือนำอาวุธปืน หรือวัตถุอันตรายเข้ามาในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น
(๕) ประพฤติผิดศีลธรรมอันดี กระทำการลามก อนาจาร หรือกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
(๖) ทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
(๗)  กระทำผิดอาญา โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๘) เจตนาทุจริตในการสอบ หรือพยายามกระทำการเช่นว่านั้น รวมถึงต้องไม่กระทำการอื่นๆอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยหรือผู้อื่น
(๙) จัดทำ เผยแพร่ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง สื่อ สิ่งพิมพ์ สิ่งวาด หรือสิ่งเขียน หรือกระทำการอื่นใด  อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยหรือผู้อื่น
(๑๐)  กระทำการปลอมลายมือชื่อผู้อื่น ปลอมแปลงเอกสารหรือแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริง หรือใช้เอกสารเช่นว่านั้นเป็นหลักฐานต่อมหาวิทยาลัย หรือผู้อื่นที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยหรือผู้อื่น
(๑๑) จงใจหรือเจตนาทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๑๒)  กระทำการอื่นใดที่อธิการบดีได้กำหนดว่าเป็นการกระผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ ๑๒  นักศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับนี้ จักต้องได้รับโทษทางวินัย 
ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ  ให้หัวหน้าส่วนงานพิจารณา    งดโทษโดยให้ว่ากล่าวตักเตือนก็ได
้ 
ข้อ ๑๓  โทษทางวินัยมี ๖ สถาน
(๑)  ว่ากล่าวตักเตือน
(๒)  ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ
(๓)   ตัดสิทธิการเข้าสอบ
(๔)  งด  ยับยั้ง  หรือชะลอการเสนอชื่อ  เพื่อขออนุมัติ   หรือรับปริญญาบัตร   หรือประกาศนียบัตร
(๕)  ให้พักการศึกษา มีกำหนดไม่เกินหนึ่งปีการศึกษา
(๖)   ให้พ้นสภาพนักศึกษา
ข้อ ๑๔  นักศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจะต้องได้รับโทษทำทัณฑ์บน ตามความเหมาะสมแก่กรณีแห่งความผิด  แต่สำหรับการลงโทษว่ากล่าวตักเตือนให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือมีเหตุอันควรลดหย่อน ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษทำทัณฑ์บน
ข้อ ๑๕  นักศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะต้องได้รับโทษตัดสิทธิการเข้าสอบ หรืองด ยับยั้ง หรือชะลอการเสนอชื่อเพื่อขออนุมัติรับปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร  หรือให้พักการศึกษา มีกำหนดไม่เกินหนึ่งปีการศึกษา  หรือให้พ้นสภาพนักศึกษาตามความร้ายแรงแห่งกรณี
ข้อ ๑๖  ให้หัวหน้าส่วนงานมีสิทธิออกประกาศเกี่ยวกับวินัยนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับส่วนงานของตนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับน
ี้ แล้วแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบ


   หมวด ๒
การดำเนินการทางวินัย

ข้อ ๑๗  การดำเนินการทางวินัยแก่นักศึกษา    ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๑๘  นักศึกษาผู้ใดถูกกล่าวหา    โดยมีหลักฐานตามสมควรว่าได้กระทำผิดวินัย   หรือความปรากฏต่อหัวหน้าส่วนงานว่านักศึกษาผู้ใดกระทำความผิด ให้อธิการบดีหรือหัวหน้าส่วนงาน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน เว้นแต่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งในกรณีดังต่อไปนี้  จะไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้
(๑)  กระทำผิดอาญาจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำผิด จนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๒)  กระทำผิดวินัย และได้รับสารภาพหรือให้ถ้อยคำเป็นหนังสือต่อหัวหน้าส่วนงาน หรือให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อคณะกรรมการสอบสวน และได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ ๑๙  คณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๘  ประกอบด้วย  ประธานกรรมการ  กรรมการและเลขานุการ จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชักช้า ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง                     
ในกรณีการสอบสวนดำเนินการไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา ให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอขอขยายเวลาการสอบสวนจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน

ข้อ ๒๐  คณะกรรมการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุน  ข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุชื่อพยานหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง และมีสิทธินำพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมาเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณา ก่อนเสร็จสิ้นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวน
ข้อ ๒๑  การกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง  ให้หัวหน้าส่วนงานสั่งลงโทษ โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ หรือว่ากล่าวตักเตือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด แล้วรายงานให้มหาวิทยาลัยทราบโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๒๒  การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง    ให้หัวหน้าส่วนงานรายงานกรณีที่เป็นสาเหตุและรายงานผลการสอบสวน (ถ้ามี) มายังอธิการบดีเพื่อพิจารณาโทษ และสั่งลงโทษตัดสิทธิการเข้าสอบ หรืองด ยับยั้ง หรือชะลอการเสนอชื่อเพื่อขออนุมัติหรือรับปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร หรือให้พักการศึกษามีกำหนดไม่เกินหนึ่งปีการศึกษา  หรือให้พ้นสภาพนักศึกษาตามความร้ายแรงแห่งกรณี
การสั่งลงโทษพักการศึกษา อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนงานสั่งลงโทษแทนได้ไม่เกินหนึ่งภาคการศึกษา       
        
ข้อ ๒๓  การลงโทษนักศึกษาที่กระทำผิดวินัยให้ทำเป็นหนังสือ และให้ผู้สั่งลงโทษแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ รวมทั้งระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ไว้ด้วย
เมื่อได้สั่งลงโทษนักศึกษาผู้ใดแล้ว ให้รีบแจ้งต่อบิดา  มารดา  หรือผู้ปกครองของนักศึกษาผู้นั้น  อาจารย์ที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัย แล้วแต่กรณีเพื่อทราบ
       

 

หมวด ๓
การอุทธรณ์

ข้อ  ๒๔.  นักศึกษาผู้ใด ซึ่งถูกสั่งลงโทษตามข้อบังคับนี้  และไม่เห็นด้วยกับคำสั่งถูกลงโทษ นักศึกษาผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ในระหว่างอุทธรณ์ให้นักศึกษายังคงได้รับโทษ
ข้อ ๒๕  การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้ผู้อุทธรณ์ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของตนในหนังสือนั้นด้วย และให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น  จะอุทธรณ์แทนคนอื่นหรือมอบหมายให้คนอื่นอุทธรณ์แทนตนไม่ได้
ข้อ ๒๖  เพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์  ผู้ประสงค์จะอุทธรณ์มีสิทธิขอตรวจหรือคัดรายงานการสอบสวนได้    ส่วนบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลหรือเอกสารอื่น ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนงานหรือคณะกรรมการสอบสวนแล้วแต่กรณี  ที่จะอนุญาตให้ตรวจหรือคัด โดยให้คำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นเป็นกรณี ๆ ไป
ข้อ ๒๗  ให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์คณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน และไม่เกินเจ็ดคนโดยต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมายอย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งอธิการบดีแต่งตั้ง และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าอธิการบดีที่แต่งตั้ง    
ข้อ ๒๘  คณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)  วินิจฉัยสั่งการเรื่องที่อุทธรณ์
(๒)  ออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสาร หรือวัตถุใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
(๓)  แต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคล  เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการก็ได้
(๔)  หน้าที่อื่น ๆ   ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย

ข้อ ๒๙  การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันทำการนับจากวันทราบคำสั่งหรือควรทราบคำสั่งลงโทษ
ข้อ ๓๐  ในการอุทธรณ์ให้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการโดยตรง และให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยและสั่งการให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับจากวันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์  เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็น ก็อาจขยายเวลาได้ แต่ไม่เกินหกสิบวันนับจากวันครบกำหนด ทั้งนี้จะต้องบันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้
ข้อ ๓๑  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า การสั่งลงโทษสมควรแก่ความผิด  หรือเห็นว่าการสั่งลงโทษนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรม ให้เสนอขอความเห็นชอบจากอธิการบดี เพื่อสั่งยกอุทธรณ์หรือเพิ่มโทษ หรือลดโทษ หรือยกโทษ แล้วแต่กรณี
คำวินิจฉัยตามวรรคแรกให้ถือเป็นยุติและให้คณะกรรมการแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

ข้อ ๓๒  การนับเวลาตามข้อบังคับนี้   หากเวลาสิ้นสุดตรงกับวันหยุดทำการของมหาวิทยาลัย   ให้นับวันเริ่มทำการถัดวันหยุดเป็นวันสุดท้ายแห่งเวลา
ข้อ ๓๓  ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้   ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้  ให้อธิการบดีมีอำนาจสั่งการให้ปฏิบัติตามที่เห็นสมควร และถือเป็นที่สุด

 

        หมวด ๔
       บทเฉพาะกาล

ข้อ ๓๔  ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการทางวินัย หรือมีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ไว้ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับให้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยวินัยนักศึกษาพ.ศ. ๒๕๔๗  ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
ข้อ ๓๕ ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้  ให้คณะกรรมการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้

 

      ประกาศ  ณ  วันที่  ๘   ตุลาคม     พ.ศ. ๒๕๕๓

 



  POST : ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๔



Back Go to top page
You are visitor number
Since 14-11-2013
Graduate Studies
Mahidol University