กลับหน้าหลัก
   

    การประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เรื่อง "บัณฑิตศึกษาไทยใต้ร่มพระบารมี" วันที่ 27 กันยายน 2550
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ ในการจัดการประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 7 และวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2550 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อนำเสนอเรื่องราวงานวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจของนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย อันจะช่วยในการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ดี มีคุณค่า ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาสังคมโดยรวม หรือต่อยอดทางความคิดให้กับผู้คนในสังคม โดยเน้นความสำคัญของการแก้ปัญหาโดยการใช้ฐานข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย เพื่อมุ่งหวังให้สังคมไทย เป็นสังคมแห่งความคิด การเรียนรู้บนพื้นฐานแห่งเหตุผล และปัญญาอย่างแท้จริง ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานในพิธีเปิด

ศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเจ้าภาพผู้จัดการประชุมฯ กล่าวรายงาน ,รองศาสตราจารย์ ดร. สุรศักดิ์ วัฒเนสก์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของรัฐ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุม GRAD RESEARCH, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับในนามเจ้าภาพจัดการประชุม พร้อมทั้งจัดให้มี "ปาฐกถาพิเศษ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" ในหัวข้อ "เปิดทองหลังพระ" โดย ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ผ่านโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จนทำให้เกิดผลงานที่โดดเด่น ที่เน้นการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ประโยชน์ร่วมกับการเกษตรเชิงธรรมชาติแบบผสมผสานอย่างเหมาะสมและครบวงจร

นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อที่หลากหลายและน่าสนใจ ได้แก่ การบรรยายเรื่อง "นกเงือก : งานวิจัยจากชุมชนสู่สากล" จาก ศาสตราจารย์ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ ผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่นในการถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการสู่ชุมชน ทั้งยังสามารถสร้างจิตสำนึกเพื่อหาแนวร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการช่วยอนุรักษ์นกเงือกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จนได้รับรางวัลระดับโลกจากองค์กรสากล รวมทั้งการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การสร้างเครือข่าย คือ กลยุทธ์ของชีวิต" และ "คุณภาพวารสารวิชาการและกลยุทธ์การตีพิมพ์" จากคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นักวิชาการผู้ได้รับพระราชทานรางวัล "เหรียญดุษฎีมาลา" เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการสร้างและบริหารเครือข่ายงานด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านวิชาการ และด้านการบริหารองค์กกร พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการเสวนาพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน นอกจากการนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์แล้ว ภายในงาน ยังได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้ง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการเรื่องนกเงือก นิทรรศการแนะแนวการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พร้อมขายใบสมัคร รวมทั้งการจัดแสดงผลผลิตงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP จังหวัดนครปฐม